การขับถ่ายคือเรื่องที่สำคัญกับชีวิตเราอย่างมาก
แน่นอนว่าเมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไป ทางเดินอาหารในส่วนต่างๆ จะทำหน้าที่ในการย่อยเพื่อส่งสารอาหารไปเลี้ยงร่างกาย โดยส่วนที่เหลือจากการย่อยและการดูดซึมจะกลายเป็นกากอาหารและถูกขับออกเป็นอุจจาระ โดยลักษณะของอุจจาระและการขับถ่ายจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอาหารที่กินและสุขภาพของคนๆ นั้น
ในอุจจาระทั้งหมด จะมี 1/3ที่มาจากกากอาหาร 1/3มาจากเซลล์ของทางเดินอาหารของเราเอง 1/3เป็นจุลินทรีย์ที่อยู่ในลำไส้ของเรา
ดังนั้นอุจจาระจึงเป็นสิ่งที่สามารถบ่งบอกถึงภาวะสุขภาพได้ การสังเกตรูปร่าง ลักษณะ และสีของอุจจาระอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นเหมือนการเช็กปัญหาสุขภาพเบื้องต้นที่ สามารถทำด้วยตัวเองได้ง่ายๆ (เสมือนเป็นจักรพรรดิจีนที่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยสุขภาพผ่านอุจจาระ)
เราจะมาสังเกตการอุจจาระ และลักษณะของอุจจาระกัน
การขับถ่ายที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร?
การขับถ่ายที่ดี คือการที่ร่างกายสามารถขับอุจจาระออกมาได้ทุกวัน โดยเฉลี่ยวันละ 1 – 3 ครั้ง เวลาขับถ่ายทำได้ง่าย สะดวก และอุจจาระที่ออกมามีลักษณะนิ่มแต่ไม่เหลวเละหรือแข็งมากจนเกินไป
ผู้ที่มีปัญหา ‘ท้องผูก’ คือ มีการถ่ายอุจจาระ น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ร่วมกับมีความผิดปกติในขณะขับถ่าย อย่างเช่น การใช้เวลานาน ต้องใช้น้ำฉีดหรือนิ้วช่วยล้วง รวมถึงรู้สึกขับถ่ายได้ไม่สุด ถ่ายออกมาน้อย อุจจาระมีลักษณะแข็ง เป็นเม็ด และอึดอัดแน่นท้อง
แต่หากมีการขับถ่ายมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ก็อาจหมายถึงร่างกายมีสภาวะที่ผิดปกติได้เช่นกัน
ทีนี้เรามาดูถึงลักษณะของอุจจาระกัน
- อุจจาระเป็นก้อนเล็กๆ แข็ง คล้ายลูกกระสุน หรือขี้กระต่าย แสดงถึงปัญหาท้องผูก เนื่องจากอุจจาระแห้งและเคลื่อนผ่านลำไส้ได้ยาก อาจมีอุจจาระค้างในลำไส้เป็นเวลานาน เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อยเกินไป รวมถึงดื่มน้ำน้อย ซึ่งหากไม่รีบรักษาอาจทำให้เกิดเป็นท้องผูกเรื้อรัง และอาจกลายเป็นสาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
- อุจจาระเป็นก้อนเล็กๆ หลายก้อนรวมกัน เป็นอีกลักษณะของโรคท้องผูก แก้ไขได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำมากๆ ออกกำลังกาย และไม่เครียด
- อุจจาระทรงรียาวคล้ายไส้กรอก ผิวขรุขระ และค่อนข้างแข็ง ยังไม่มีปัญหาในการขับถ่าย แต่อาจบ่งชี้ว่าดื่มน้ำน้อยเกินไป
- อุจจาระเป็นลำสวย ผิวเรียบคล้ายกล้วยหอม ไม่แข็งหรืออ่อนนิ่มเกินไป เป็นอุจจาระที่บ่งบอกถึงสุขภาพที่ดี
- อุจจาระที่แตกเป็นชิ้นสั้นๆ ขับถ่ายได้ง่าย เป็นลักษณะอุจจาระที่ดี แต่ร่างกายอาจกำลังขาดสารอาหาร หรือกากใยบางประเภท
- อุจจาระกึ่งเหลวกึ่งก้อน อาจเป็นอาการเริ่มต้นของท้องเสีย หรือภาวะที่แบคทีเรียในลำไส้ไม่สมดุล แก้ไขด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หรือรับประทานโยเกิร์ตเพื่อปรับสมดุลของแบคทีเรียในระบบย่อยอาหาร
- อุจจาระเหลวเป็นน้ำ เป็นอาการของท้องเสีย หรือเกิดการติดเชื้อในลำไส้ ควรรับประทานเกลือแร่ และจิบน้ำบ่อยๆ
หากพบลักษณะอุจจาระในแบบที่ 6 และแบบที่ 7 และพบกับภาวะขาดน้ำ ปากแห้ง อ่อนเพลีย เวียนหัว ปวดท้องรุนแรง หน้าท้องเกิดรอยแดง เป็นไข้สูง อุจจาระปนเลือด หรือน้ำหนักลด ควรไปพบแพทย์
ทีนี้เราก็มาพิจารณาถึง สีของอุจจาระกัน เพราะสีของอุจจาระก็สื่อถึงสัญญาณสุขภาพได้เช่นกัน
- อุจจาระสีน้ำตาล ไม่ว่าจะน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลอ่อน ถือเป็นสีปกติของอุจจาระ
- อุจจาระสีเขียวอ่อนเป็นลักษณะของอุจจาระทั่วไป หากอุจจาระสีเขียวเข้มอาจมาจากอุจจาระนั้นถูกขับออกมาเร็วเกินไป
- อุจจาระสีเหลืองพบได้ทั่วไป หรือมาจากกินอาหารไขมันสูง ปัญหาการดูดซึม ปัญหาเกี่ยวกับท่อน้ำดี
- อุจจาระสีดำอาจมาจากการกินอาหารเสริมธาตุเหล็ก การใช้ยาบางชนิด และอาจหมายถึงการมีเลือดออกในลำไส้ส่วนบน ดังนั้น หากไม่ได้ใช้อาหารเสริมหรือยาแล้วพบอุจจาระสีดำคล้ายยางมะตอย ร่วมกับมีอาการเหนื่อยและอ่อนเพลีย ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์
- อุจจาระสีซีดหรือสีขาวเกิดจากภาวะท่อน้ำดีอุดตัน
- อุจจาระสีแดงจากเลือดปน เป็นสัญญาณของโรคริดสีดวงทวารและการมีเลือดออกภายใน ควรไปพบแพทย์เช่นกัน
หากมีลักษณะหรือสีที่เปลี่ยนแปลงไปควรได้รับการตรวจดูแลจากแพทย์
วิธีที่ช่วยส่งเสริมการขับถ่ายที่ดี
- ขับถ่ายให้เป็นเวลา เพราะร่างกายและลำไส้มีจังหว่ะของมันเอง
- ไม่เล่นมือถือหรืออ่านหนังสือในขณะต้องการถ่าย เพราะร่างกายจะไม่โฟกัสในขณะที่ขับถ่าย หรืออาจทำให้นั่งนานเกินไปได้
- เลือกกินอาหารที่ย่อยง่าย มีกากไยไฟเบอร์ เช่น ผลไม้ ผัก เมล็ดธัญพืช และเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ก็จะสามารถส่งเสริมการย่อยให้มีคุณภาพ
- การออกกำลังกายเป็นประจำสามารถช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้ เช่น การเดิน จ็อกกิ้ง หรือโยคะ ฝึกหายใจ เพื่อเป็นการกระตุ้นการขับถ่าย จะช่วยกระตุ้นส่งเสริมการเคลื่อนตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ได้
- การนั่งถ่ายที่ถูกวิธี โดยอาจเปลี่ยนวิธีการนั่งขับถ่ายจากเดิมที่เท้าอยู่ที่พื้น ให้หาเก้าอี้หรือฐานรอง มารองบริเวณเป้า ให้มีลักษณะของเข่าที่สูงขึ้น โดยให้เหนือจากช่วงสะโพกขึ้นไป และทำการโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย จะช่วยทำให้มีการขับถ่ายที่คล่องขึ้น
- ดื่มให้เพียงพอต่อร่างกาย เนื่องจากน้ำจะช่วยให้อุจจาระนิ่มลงและทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
- ลดความเครียด เนื่องจากความเครียด และการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ จะทำให้ระบบการทำงานของร่างกายทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้ส่งผลต่อร่างกายในระยะยาวได้
- กินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นการขับถ่าย อย่างเช่น นมเปรี้ยว หรือโยเกิร์ต ซึ่งมีทั้งแลคติกซึ่งเป็นพรีไบโอติก และมีจุลินทรีย์ต่าง ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนทางเดินอาหารและการขับถ่ายได้
เพียงเท่านี้เราก็สามารถเช็กสุขภาพเบื้องต้นง่ายๆได้ด้วยตัวเอง สีและลักษณะอุจจาระเป็นเพียงการประเมินสาเหตุเบื้องต้นเท่านั้น หากพบสิ่งใดที่อาจเป็นสัญญาณโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด
ยังมีบทความในการดูแลสุขภาพทรงพลังอีกมากมาย สามารถอ่านต่อได้ที่
วิถีทรงพลัง – บริษัท ดอกเตอร์ทรงพลัง จำกัด
ทางรอดอาหารก่อมะเร็ง – บริษัท ดอกเตอร์ทรงพลัง จำกัด
หรือติดตามเคล็ด(ไม่)ลับ สุขภาพวันละนิด ได้ที่บทความของเรา https://www.drsongpalang.com/category/blog/
Facebook Page: https://www.facebook.com/dr.songpalang
สุดท้ายนี้ ทีมงานดอกเตอร์ทรงพลังขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านทรงพลังอย่างยั่งยืน